

เมื่อช่วงปลายปี 2564 ได้มีการกล่าวถึงศัพท์ในแวดวงไอทีคำหนึ่งอย่างแพร่หลายทั่วโลก คือคำว่า ‘metaverse’ หรือ เมตาเวิร์ส พร้อมกันกับที่ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Meta’ และยังมีวิดีโออธิบายถึงภาพของ metaverse ในองค์รวมแบบเข้าใจง่าย และแนวทางของ Facebook หรือ Meta ในอนาคต แสดงให้เห็นว่าแวดวงไอทีกำลังให้ความสนใจกับ metaverse เป็นอย่างสูง
และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ประกาศลงหน้าเพจเฟซบุ๊กว่ามีการบัญญัติศัพท์ที่ใช้แทน metaverse เป็นภาษาไทยว่า ‘จักรวาลนฤมิต’ ซึ่งก็ตอกย้ำว่า metaverse จะมีอิทธิพลทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในภายภาคหน้า
อย่างไรก็ตาม วิดีโอนำเสนอของ Meta นั้นก็ไม่ได้อธิบายถึงความหมายที่แท้จริงของ metaverse แต่อย่างใด หรือสำนักงานราชบัณฑิตยสภาก็ประกาศเพียงศัพท์บัญญัติ ไม่ได้ให้ความหมายของจักรวาลนฤมิตเพิ่มเติม จึงเกิดข้อสงสัยว่า แล้ว metaverse ที่ถูกพูดถึงนี้คืออะไร ทำงานยังไง และส่งผลต่อวิถีชีวิตเราในอนาคตขนาดไหน NIPA Cloud จึงชวนมาหาคำตอบไปด้วยกัน

Metaverse คืออะไร?
เมื่อพูดถึงนิยามหรือความหมายของ metaverse นั้นอาจจะดูคลุมเครือ ไม่ค่อยชัดเจนนัก หากดูจากคำก็จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน อ้างอิงจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด คือ meta ที่นิยามว่า connected with a change of position or state (ที่เชื่อมกับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือสภาพ), higher; beyond (อยู่สูงกว่า เหนือกว่า) และ verse ที่มาจาก universe หรือจักรวาล เมื่อรวมแล้วจะหมายถึงโลกที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง หรือโลกที่อยู่เหนือขั้น ซึ่งก็อาจไม่ได้ทำให้เข้าใจ metaverse ไปมากกว่าเดิม แต่อย่างน้อยเราก็พอทราบแล้วว่า metaverse เป็นโลกอีกใบที่เราต้องมาเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อ
บทความ What Is the Metaverse, Exactly? ของ WIRED ก็ได้มีการชวนผู้อ่านมาถกประเด็นเรื่องความหมายของ metaverse เช่นกัน โดยในบทความได้อธิบายว่านิยามของ metaverse นั้นไม่ตายตัว และไม่ใช่เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดกิจกรรมมากมายทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน ผ่านนวัตกรรมต่าง ๆ อาทิ virtual reality (VR), augmented reality (AR), PC, game consoles หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ หมายความว่าจริง ๆ แล้ว ณ ปัจจุบัน metaverse กำลังแทรกซึมอยู่ในชีวิตของมนุษย์โดยที่เราไม่รู้ตัว
นอกจากนั้น metaverse ยังอาจหมายถึงเศรษฐกิจรูปแบบดิจิทัลด้วย เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนได้ และด้วยความที่แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ในปัจจุบันเน้นการแสดงตัวตนเสมือนจริงหรืออวตาร (avatar) ทำให้ต้องระบุตัวตนเมื่อเข้าใช้บริการ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ คือ หากเราต้องการเป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วต้องซื้อเสื้อ 1 ตัวเพื่อยืนยันตัวตน ในโลกจริงเราอาจจะต้องเดินทางไปซื้อที่ช็อปแล้วสวมใส่ไปเข้ากลุ่ม แต่ metaverse สามารถทำให้เราเลือกซื้อเสื้อบนแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อยืนยันการเป็นสมาชิกกลุ่มได้ทันทีโดยไม่ต้องก้าวเท้าออกไปที่ไหนให้เสียเวลา เป็นต้น

ปรากฏการณ์การพูดถึง metaverse อย่างกว้างขวางนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุค 1970s ที่ผู้คนอภิปรายกันว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ จะมีหน้าตาเป็นยังไง ซึ่ง ณ ตอนนั้นก็ไม่มีผู้ที่จินตนาการได้อย่างแม่นยำว่าอินเทอร์เน็ตจะมีหน้าตาเป็นแบบในปัจจุบัน metaverse ในปัจจุบันก็กำลังอยู่ในช่วงเดียวกันกับอินเทอร์เน็ตในยุคดังกล่าว ที่แม้ว่าตอนนี้เรายังหาคำตอบไม่ได้แน่ชัดว่าตกลงแล้วมันคืออะไรกันแน่ แต่อย่างน้อยเราก็พอจะมองเห็นภาพว่าการปฏิสังสรรค์ในโลกเสมือนนั้นเริ่มมีอิทธิพลและแพร่กระจายในสังคมอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงในอนาคตอาจมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาและนับรวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของ metaverse อีก ดังนั้น เราจึงต้องเฝ้าติดตามภาพที่แท้จริงของ metaverse ที่จะค่อย ๆ เผยให้เห็นในวันข้างหน้า
ไม่มี cloud ไม่มี metaverse
เทคโนโลยีคลาวด์เกี่ยวข้องยังไงกับ metaverse?
อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีคลาวด์ หรือ cloud computing นั้นเปรียบเสมือนเป็น ‘สมอง’ ของ metaverse ก็ว่าได้ เพราะการที่จะเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จำนวนมากนั้นจะต้องใช้ข้อมูลมหาศาลหรือ big data ที่จะเป็นฐานให้ระบบประมวลผลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานให้แม่นยำและมากที่สุด และเมื่อมีข้อมูลจำนวนมาก ก็จะต้องมีพื้นที่เก็บข้อมูลที่ใหญ่เพียงพอเช่นกัน ซึ่งพื้นที่นั้นจะเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจากเทคโนโลยีคลาวด์
นอกจากเทคโนโลยีคลาวด์ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่สามารถปรับเพิ่ม-ลดขนาดได้แล้วนั้น ยังมีระบบ cloud computing ที่ช่วยให้การจัดการกับข้อมูลนั้นมีความรวดเร็ว ยืดหยุ่น เชื่อถือได้ และมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย ซึ่งเมื่อพูดถึง metaverse ก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการจัดการกับข้อมูลและทราฟฟิกที่หนาแน่นได้เลย เพราะเป็นการเข้าถึงจากทั่วทุกมุมโลกในเวลาเดียวกัน ดังนั้น การจัดการข้อมูลจึงจำเป็นต้องมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเทคโนโลยีคลาวด์นั่นเอง
Adam Selipsky ผู้บริหารคนใหม่ของ Amazon Cloud Technology ได้กล่าวในงานสัมมนาระดับโลก re: Invent ในปี 2564 ว่า แม้ว่าเทคโนโลยีคลาวด์จะพัฒนามาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปีแล้ว และก่อให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในขั้น ‘เริ่มต้น’ อยู่ โดยเขาได้อ้างถึงจำนวนการใช้คลาวด์ว่ามีเพียง 5-15% ของการใช้ไอทีทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย แต่ในอนาคตอันใกล้ เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ปริมาณงานก็จะทยอยเพิ่มขึ้นจนในที่สุดต้องหันมาพึ่งพาบริการคลาวด์ รวมถึงนวัตกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็จำเป็นต้องพึ่งพาการเก็บข้อมูลมหาศาลไว้บนคลาวด์เช่นกัน ดังนั้น เทคโนโลยีคลาวด์จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตมนุษยชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

อยา่งที่ได้กล่าวไปข้างต้น metaverse ในตอนนี้เหมือนกับอินเทอร์เน็ตในยุค 1970s ที่ยังดูพร่ามัว ไม่ชัดเจน และเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ต่อ แต่เราก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า metaverse จะเป็นสิ่งที่มาเปลี่ยนแปลงโลกให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และไร้ข้อจำกัดมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีคลาวด์และระบบ cloud computing ที่จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นในเรื่องการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเทคโนโลยีคลาวด์นี้เองจะเป็นรากฐานให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างแท้จริง