จากการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลของมวลมนุษยชาติในปัจจุบัน ทั่วโลกต่างก็กำลังปรับตัวและพัฒนาเพื่อให้เท่าทันชาติอื่น ๆ บางประเทศก็แข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2564 (e-Conomy SEA 2021) ไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงทั่วทุกแห่งหนเช่นนี้
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก หรือ mega trends ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ธุรกิจ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ดังนั้น ภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นการวางยุทธศาสตร์การปรับตัว โดยพิจารณาจากองค์ประกอบทางสังคมหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี’ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) และ Machine Learning
ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลนั้น คือ ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนนักวิเคราะห์ข้อมูล ที่จะต้องมีพื้นที่จัดเก็บขนาดใหญ่เพื่อรองรับข้อมูลดังกล่าว อันจะนำไปสู่การต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ล้ำหน้าในอนาคต หากรัฐบาลยังเพิกเฉย และไม่จัดสรรพื้นที่จัดเก็บข้อมูลนั้น ๆ กลุ่มคนเหล่านี้ก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาหน่วยงานภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายสูง นานวันเข้าก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาต่อยอด ส่งผลให้ประเทศล้าหลัง วิ่งตามชาติอื่นไม่ทัน และถึงแม้ว่าในขณะนี้จะมีโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service—GDCC) ที่มีหน้าที่จัดสรรพื้นที่จัดเก็บข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายประชาชนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงคลาวด์ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานได้อยู่ดี
บริษัท นิภา เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ให้บริการคลาวด์เจ้าแรกในเมืองไทย มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาระบบคลาวด์ด้วยตัวเองมาตลอดระยะเวลา 5 ปี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีว่าสมควรได้รับการผลักดันให้เทียบเท่ากับระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติในภายภาคหน้า วิธีการปรับตัวตามยุคสมัยจึงเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนารวดเร็วมากที่สุด และที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อก้าวให้เท่าทันกับต่างชาติในด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มภาคภูมิ นั่นคือ การผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่เรียกว่า ‘National Cloud’
แนวคิด National Cloud นี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีการจัดสรร National Research Cloud ขึ้นเพื่อพัฒนานวัตกรรมและก้าวสู่ความเป็นหนึ่งด้านเทคโนโลยีของโลก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สหรัฐฯ พยายามแข่งขันกับชาติมหาอำนาจอย่างจีนที่เป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยี โดยจีนมีการใช้ National Cloud เพื่อป้องกันภัยทางไซเบอร์ทั้งจากคนในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีแผนบุกตลาดคลาวด์เพื่อขยายธุรกิจของตนให้กระจายสู่ทั่วโลก อย่าง Alibaba ที่กำลังมีแผนบุกตลาดไทย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซียในปี 2565 นี้ รวมไปถึง National Cloud ชาติแรกของยุโรปอย่าง ‘Monaco Cloud’ ที่ราชรัฐโมนาโก ที่มีจุดประสงค์เพื่อรักษาความปลอดภัยอันเป็นหัวใจหลักของประเทศ อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีคลาวด์มาอำนวยความสะดวกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนได้อย่างชาญฉลาด แสดงให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่โลกอนาคตได้อย่างแท้จริง
หลายท่านคงทราบกันว่าโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) คือสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดสรรเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็น น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน ขนส่งมวลชน สถานีโทรทัศน์และวิทยุ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ กล่าวคือ ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียมกัน และในเมื่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลกกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัล รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องจัดสรรโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลให้กับประชาชนทั่วไปเช่นกัน โดยบริษัทฯ มองว่าสิ่งพื้นฐานที่สุดที่ประเทศชาติควรจัดสรรให้กับประชาชนในยุคดิจิทัล คือ ‘เทคโนโลยีคลาวด์’ (cloud technology) ที่จะมาช่วยจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลให้กับคนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การนำเทคโนโลยีคลาวด์มาปรับใช้นั้นมีข้อดีอย่างไร? โดยทั่วไป เทคโนโลยีคลาวด์นั้นมีหน้าที่หลัก ๆ อยู่ 2 ประการ ได้แก่ การประมวลผลข้อมูล (cloud computing) และการจัดเก็บข้อมูล (cloud storage) ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งกับข้อมูลจำนวนมหาศาล (big data) นอกจากนี้ เทคโนโลยีคลาวด์ยังสามารถรับมือกับการใช้งานจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน (traffic) เพื่อลดโอกาสการเกิดสภาวะคอขวด (bottleneck) จากการที่ระบบล่มได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้สามารถเข้าถึงเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ผ่านอินเทอร์เน็ต ตลอดจนเมื่อเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาททั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ก็จะยิ่งขับเน้นประสิทธิภาพของการทำงานบนคลาวด์ให้ถึงขีดสุด
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผลักดันให้มีการใช้ National Cloud อย่างแพร่หลายในสังคมแล้ว ก็จะเกิดประโยชน์ตามมาอีกอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก—การสร้าง ‘ชุมชนคลาวด์’ (cloud community) หรือทีมนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากทั่วประเทศที่มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลแหล่งเดียวกัน ไม่สะเปะสะปะ ชุมชนคลาวด์สามารถแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับสมาชิกและต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่จะนำไปแข่งขันกับต่างชาติด้วยความภาคภูมิ ประการที่สอง—การใช้บริการคลาวด์ไทยที่พัฒนาโดยคนไทยด้วยกันนั้นจะยิ่งเพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูล หรือที่เรียกว่า ‘ความเป็นอธิปไตยในการเก็บข้อมูล’ (data sovereignty) นั่นคือ ป้องกันข้อมูลรั่วไหลสู่ต่างชาติ และลดอำนาจการเป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว และประการที่สาม—การใช้บริการคลาวด์ไทยยังช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการประมวลผล จาก data center ที่ตั้งอยู่ในประเทศ พร้อมค่าใช้จ่ายที่ลดลงอีกด้วย
ด้วยการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์อย่างไม่หยุดยั้ง บริษัท นิภา เทคโนโลยี จำกัด ได้เห็นถึงความสำคัญของ National Cloud และขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลนี้ให้เร็วที่สุด เพราะหากประเทศไทยยังไม่เริ่มลงมือตั้งแต่ตอนนี้ อาจต้องแลกมากับความสูญเสียหลายมิติในอนาคต ทั้งค่าเสียโอกาส อำนาจ และการก้าวทันนานาชาติ หากรัฐบาลผลักดันโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว นอกเหนือจากการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจแล้วนั้น ยังสามารถเปิดพื้นที่ให้คนไทยได้แสดงศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ และเพื่อเก็บรักษาข้อมูลจำนวนมหาศาลของชาติไว้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดสรรนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาให้ประเทศชาติก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลได้ในอนาคต เสริมความแข็งแกร่งด้านดิจิทัลให้กับชาติให้พร้อมแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ
สนใจรับชมวิดีโอ National Cloud เพิ่มเติมได้ที่นี่